อาชีพครูนั้นมีภารกิจให้รับผิดชอบมากมาย ทั้งงานสอนและการสนับสนุนอื่น ๆ
ดังนั้นการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจให้แข็งแรงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง
เพื่อให้ได้ทำงานที่รักอย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งพลังงานดี ๆ
ให้นักเรียนมีกำลังใจศึกษาหาความรู้ต่อ
ในหัวข้อครั้งนี้ แอดมินส่องทางทุน by กสศ. จึงขอสรุปประเด็นการเรียนรู้
จากงานประชุมเครือข่ายคุณครูส่องทางทุนฯ The Meeting 3 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา
ถึงแนวทางการดูแลตัวเองของคุณครูและนักเรียนของคุณครูดังนี้ค่ะ
แนวทางการดูแลตัวเองของคุณครู
การดูแลร่างกายและจิตใจของตนเอง ปัจจัยสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง
ช่วยเพิ่มพลังกายและและพลังใจของครู ให้พร้อมต่อการทำงานและการดำเนินชีวิต
- 1. การดูแลสุขภาพกาย:
- การพักผ่อน: การนอนที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย การผ่อนคลาย และการมีเวลาอยู่กับตัวเอง
- ออกกำลังกาย: ทำให้สุขภาพดีขึ้น มีความคล่องแคล่วว่องไว มีความกระตือรือร้นในการทำงาน
- การทานอาหารที่มีประโยชน์: การกินอาหารที่มีประโยชน์และเพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน
- 2. การดูแลสุขภาพกาย:
- การสร้างทัศนคติที่ดี: การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่รายล้อมด้วยผู้คนที่เปิดกว้างทางความคิด
ส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศที่เอื้อต่อการสร้างทัศนคติที่ดี ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น
- การทำงานอดิเรก: การได้ทำกิจกรรมที่ชอบ เพื่อเพิ่มพลังงานในการใช้ชีวิตให้มีความกระตือรือร้นมากขึ้น
เช่น การดูหนัง ฟังเพลง เล่นดนตรี วาดภาพ การเดินทางท่องเที่ยว ปลูกต้นไม้ จัดสวน ทำอาหาร ทานของอร่อย
อ่านหนังสือ ประดิษฐ์สิ่งของต่าง ๆ เป็นต้น
แนวทางการดูแลนักเรียนของคุณครู
การดูแลนักเรียน คือภารกิจหลักของวิชาชีพครู โดยการดูแลนักเรียนของครูนั้นประกอบด้วยกันในหลายด้าน
เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะ ความรู้ ความเข้าใจ ทั้งในด้านวิชาการและการปฏิบัติ
มีความพร้อมต่อการเผชิญโลกกว้าง และศึกษาต่อในระดับการศึกษาที่สูงขึ้นได้
- 3. ความรู้:
- ทางด้านวิชาการ: การให้ความรู้ในด้านวิชาการ พร้อมกับการสอนที่มีเทคนิควิธี
ที่มีส่วนทำให้นักเรียนสนุกและเกิดความรู้ ความเข้าใจในบทเรียนได้ง่าย รวมทั้งการบูรณาการความรู้
เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนของครูสามารถต่อยอดทักษะและความรู้ในหลายแขนงเข้าด้วยกันได้
- • ประสบการณ์ชีวิต: กิจกรรมที่เอื้อต่อการฝึกฝนประสบการณ์ของนักเรียน เน้นการฝึกปฏิบัติ
เพื่อให้เกิดความชำนาญ เกิดความรับผิดชอบ และการทำงานเป็นกลุ่ม
- 4. เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับนักเรียน:
- การพูดจาสุภาพ: การพูดจาสุภาพ ทั้งกับเพื่อนครู ผู้ปกครอง ผู้บังคับบัญชา
หรือแม้แต่กับตัวของนักเรียนเอง
- การวางตัวที่เหมาะสม: การแต่งกายที่เหมาะสมและการวางตัวที่ดีของครู
ทำให้นักเรียนเกิดการซึมซับและลอกเลียนแบบในทางที่ดี ส่งผลให้นักเรียนมีระเบียบวินัย เคารพและเชื่อฟังครู
- 5. การแนะแนวการศึกษาต่อ:
- การหาทุนการศึกษา: การจัดหาทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์
- การแนะแนว: การแนะนำสถานศึกษา การให้ความรู้ความเข้าใจในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น
รวมไปถึงการสร้างกระบวนการให้นักเรียนได้รู้จักตนเอง
เพื่อใช้สำหรับการตัดสินใจในการศึกษาต่อที่ตรงกับความชอบของตนเอง
เพื่อให้นักเรียนได้เติบโตมาอย่างมีคุณภาพ และเป็นคนดีของสังคมต่อไป
การดูแลตนเองของครูและนักเรียนอันเปี่ยมไปด้วยความรักและปรารถนาดีนั้น
เป็นสิ่งที่ตัวนักเรียนเองสามารถสัมผัสได้ ช่วยให้คุณครูและนักเรียนมีพลัง
พร้อมก้าวเดินไปบนเส้นทางการศึกษาไปด้วยกันนะคะ
คุณครูของ กสศ. ติดตามข้อมูลทุนการศึกษาอื่น ๆ นอกเหนือทุนของเราได้ที่
เฟซบุ๊กกรุ๊ป “ส่องทางทุน by กสศ.”