3 เทคนิคแนะนักเรียนทุน รักษาสิทธิ์ให้ได้ทุนต่อ
Card image cap

ดาวน์โหลดได้ที่ https://bit.ly/3o4PF7m

หากพูดถึงหนทางสู่ความสำเร็จของนักเรียนทุน พิธีรับมอบทุนการศึกษาไม่ใช่ปลายทาง แต่เป็นเพียงหมุดหมายเริ่มต้นของการเดินทางไกลเท่านั้น เพราะเมื่อนักเรียนได้รับโอกาสมาอยู่ในมือแล้ว สิ่งสำคัญคือการรักษาไว้ให้ได้ และพยายามอย่างดีที่สุดในการก้าวเดินต่อจนประสบความสำเร็จ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่นักเรียนทุนควรจะต้องปฏิบัติตัวให้ตรงตามคุณสมบัติที่ผู้ให้ทุนกำหนดไว้อยู่เสมอ เพราะสิ่งเหล่านี้จะมีผลต่อการพิจารณาให้ทุนต่อ

 

ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาสิทธิ์ให้นักเรียนทุนที่อยู่ในความดูแลของครูได้รับทุนอย่างต่อเนื่อง วันนี้แอดมินส่องทางทุน by กสศ. เลยมี 3 เรื่องที่ครูสามารถแนะนำให้กับนักเรียนทุนได้ค่ะ ไปติดตามกันเลย…


1. หมั่นดูเงื่อนไขทุน: ปฏิบัติตามข้อกำหนดของทุน และหมั่นสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ดูแลทุน

ในเอกสารข้อมูลทุนจะมีระบุไว้เสมอว่าเงื่อนไขการรับทุนมีอะไรบ้างที่ผู้รับทุนจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เช่น ต้องใช้ทุนคืนภายในระยะเวลาที่กำหนด ห้ามเปลี่ยนสถานที่เรียน ต้องทำงานในองค์กรที่กำหนดหลังเรียนจบ หรือต้องยื่นขอทุนแบบปีต่อปีแม้จะเป็นทุนต่อเนื่อง ฯ นอกจากนี้ควรให้นักเรียนหมั่นสื่อสารกับเจ้าหน้าที่องค์กรผู้ให้ทุนเสมอ ในกรณีที่มีความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ซึ่งในส่วนนี้หากนักเรียนทุนยังเป็นเด็กเล็ก เช่น อยู่ชั้นอนุบาล หรือประถมศึกษา ครูอาจลองชวนนักเรียน และผู้ปกครอง มานั่งอ่านรายละเอียดเงื่อนไขทุนร่วมกัน เพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกัน จะได้ปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องและเหมาะสมในระหว่างที่นักเรียนได้ทุน และไม่ทำผิดเงื่อนไขทุนโดยไม่เจตนา


2. ประพฤติดี: จดจำความมุ่งมั่นเอาไว้เสมอ และทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียน

การเป็นนักเรียนทุนก็เปรียบเสมือนกับการเป็น ‘ตัวแทน’ ขององค์กรผู้ให้ทุนด้วยเช่นกัน เพราะถือว่านักเรียนทุนได้รับการยอมรับ และผ่านการคัดเลือกว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมกับจุดประสงค์ของทุนการศึกษานั้น ๆ ดังนั้นครูจึงอาจจะช่วยเตือนให้นักเรียนคิดถึงจุดนี้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะมีการกำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในเงื่อนไขทุนหรือไม่ก็ตาม นักเรียนจึงควรมีประพฤติดีอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ออกนอกลู่นอกทาง จดจำความมุ่งมั่นเป้าหมายเอาไว้เสมอ นอกจากนี้ก็ควรรร่วมทำกิจกรรมกับโรงเรียนอยู่เสมอ ส่วนในกรณีที่เอกสารทุนมีข้อกำหนดไว้ชัดเจนว่าให้ประพฤติปฏิบัติตัวอย่างไร ตัวนักเรียนทุนก็ควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เช่น ต้องทำกิจกรรมเพื่อเก็บชั่วโมงจิตอาสาจำนวนกี่ชั่วโมงใน 1 ปีการศึกษา ต้องส่งเอกสารรายงานและประเมินผลประจำปีตามที่ผู้ให้ทุนกำหนด เป็นต้น


3. รักษาผลการเรียน: ตั้งใจเรียน รักษาเกรดไม่ให้ต่ำกว่าเกณฑ์

หลายทุนการศึกษาโดยเฉพาะทุนประเภทเรียนดี มักมีข้อกำหนดให้นักเรียนทุนรักษาผลการเรียน ไม่ให้มีเกรดเฉลี่ยต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในแต่ละปีการศึกษา เพื่อเป็นเครื่องการันตีว่านักเรียนที่ได้รับมอบทุนไปนั้น ใช้โอกาสที่ได้รับอย่างคุ้มค่าด้วยการตั้งใจเรียนจนมีผลการเรียนดีได้อย่างต่อเนื่อง และในอนาคตหากมีการพิจารณามอบทุนต่อ นักเรียนทุนคนนั้นก็จะมีโอกาสได้รับทุนอีก แต่ในทางตรงกันข้าม เมื่อนักเรียนได้รับทุนไปแล้วละเลยการเรียน จากที่เคยเรียนดี กลับมีผลการเรียนลดลง ปฏิบัติตนไม่ตรงกับจุดประสงค์ของทุนการศึกษาที่ได้รับ ทางองค์กรผู้ให้ทุนก็อาจพิจารณาตัดทุนการศึกษา หรือไม่ให้ทุนต่อได้ ดังนั้นครูอาจต้องคอยช่วยดูผลการเรียนของนักเรียนทุนอยู่เสมอ ช่วยแนะนำหรือเตือนกันไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนนักเรียนจะเกรดตกจนรักษาสิทธิ์ไม่อยู่


ช่วงเวลาที่ครูคอยช่วยเหลือนักเรียนในกระบวนการสมัครคัดเลือกผู้รับทุนนั้น อาจกินเวลาเพียงหลักเดือน แต่อย่าลืมว่าเมื่อนักเรียนได้ทุนมาแล้ว ช่วงเวลาที่ต้องคอยดูแลให้นักเรียนสามารถรักษาสิทธิ์ทุนไว้ให้ได้อย่างต่อเนื่องนั้น กินเวลายาวนานกว่ามาก อาจเป็นปีหรือหลายปีจนกว่าจะสิ้นสุดทุน ดังนั้นช่วงเวลาการรักษาสิทธิ์จึงถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ครูจะช่วยคอยแนะนำ และหมั่นติดตาม… เมื่อพานักเรียนลงเรือมาด้วยกันแล้ว ก็ต้องส่งให้ถึงฝั่งจริงไหมคะ


คุณครูของ กสศ. ติดตามข้อมูลทุนการศึกษาอื่น ๆ นอกเหนือทุนของเราได้ที่

เฟซบุ๊กกรุ๊ป “ส่องทางทุน by กสศ.”