6 เทคนิคเตรียมสัมภาษณ์ ให้นักเรียนของครู คว้าทุนได้อยู่หมัด
Card image cap

ดาวน์โหลดได้ที่ https://bit.ly/3P8GGhj

นอกเหนือการส่งเอกสารสมัครขอทุนแล้ว หลายทุนการศึกษามักจะมีรอบสอบสัมภาษณ์ในกระบวนการคัดเลือกด้วย เพื่อเป็นการทำความรู้จักกับผู้สมัครทุน และพิจารณาคุณสมบัติเพิ่มเติม ว่านักเรียนคนนั้นมีบุคลิกภาพ ประสบการณ์ ทัศนคติ มุมมอง และวิสัยทัศน์อย่างไรบ้าง ดังนั้นการสัมภาษณ์จึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้สมัครทุนจะต้องใช้อย่างคุ้มค่าและทำอย่างเต็มที่ เพื่อพิสูจน์ว่าเขาคือผู้ที่เหมาะสมที่สุดที่จะได้รับทุนนั้น การสอบสัมภาษณ์จึงถือเป็นช่วงเวลาที่ตื่นเต้น และน่ากังวลในขณะเดียวกัน เพราะนักเรียนหลายคนไม่เคยมีประสบการณ์การสัมภาษณ์มาก่อน พวกเขาไม่รู้ว่าในห้องสัมภาษณ์มีบรรยากาศเป็นอย่างไร ต้องเจอกับใครบ้าง หรือต้องตอบคำถามอะไรบ้างในห้องสัมภาษณ์


วันนี้แอดมินส่องทางทุน by กสศ. เลยมีเทคนิคการสอบสัมภาษณ์มาฝากกัน ซึ่งครูสามารถนำไปแนะนำต่อ หรือวางแผนร่วมกับนักเรียนได้ ตั้งแต่การเตรียมตัวก่อนสอบสัมภาษณ์ จนถึงข้อควรปฏิบัติระหว่างการสอบสัมภาษณ์ มีเทคนิคอะไรบ้าง ไปติดตามพร้อม ๆ กันเลยค่ะ


ก่อนวันสอบสัมภาษณ์

1. เก็งคำถาม: เตรียมคำตอบสำหรับคำถามยอดฮิตสำหรับการสัมภาษณ์

ครูอาจช่วยเก็งคำถามสัมภาษณ์ที่พบเป็นประจำให้กับนักเรียนได้ เช่น ทำไมถึงมาสมัครทุนนี้ ทำไมถึงคิดว่าตนเองเหมาะสมที่จะได้รับทุนนี้ อาชีพในอนาคต เป้าหมายชีวิต ความฝัน ความหวัง ฯลฯ โดยอาจชวนให้นักเรียนเตรียมเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้อง คำสำคัญ ที่ควรจะพูด (keywords) หรือประเด็นสำคัญของแต่ละคำถามไว้คร่าว ๆ ให้เข้าใจไร้การท่องจำ เพื่อป้องกันไม่ให้นักเรียนกดดัน หรือเกร็งจนเกินไป เพราะหากลืมขึ้นมาก็จะทำให้การตอบคำถามสะดุดได้ ครูอาจช่วยแนะนำให้นักเรียนเตรียมชุดคำตอบไว้หลาย ๆ แบบ สำหรับเลือกนำมาตอบได้ เช่น ประสบการณ์ที่อยากเล่า บุคคลต้นแบบที่อยากพูดถึง เหตุการณ์ที่น่าประทับใจ หรือจุดเปลี่ยนของชีวิต เป็นต้น การเตรียมเรื่องเล่า หรือประเด็นคำตอบให้พร้อม จะทำให้การตอบคำถามเป็นธรรมชาติ และลื่นไหลมากขึ้นเลยทีเดียว

2. รู้จักผู้ให้ทุน: ศึกษาผู้ให้ทุนและตัวทุน

ครูอาจช่วยหาข้อมูลองค์กรทุนการศึกษาให้นักเรียนทำความเข้าใจประวัติ คำขวัญ และวัฒนธรรมองค์กร เรื่องเล่าของผู้บริหาร ที่มาของทุน ตลอดจนเรื่องราวของนักเรียนทุนรุ่นพี่ ซึ่งนักเรียนเองก็สามารถหาได้ในเว็บไซต์องค์กร หรือสื่อประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ เพื่อให้มีข้อมูลที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ และสอดแทรกในการตอบคำถามสัมภาษณ์ได้ ซึ่งการที่นักเรียนผู้สมัครทุนแสดงออกว่ารู้จักองค์กรผู้ให้ทุนเป็นอย่างดี ย่อมแสดงถึงความใส่ใจ และทำให้นักเรียนคนนั้นเป็นที่น่าสนใจยิ่งขึ้นในสายตาของคณะกรรมการ

3. ฝึกฝน ฝึกฝน ฝึกฝน: ยิ่งฝึกฝน ยิ่งมั่นใจ

นักเรียนหลายคนอาจไม่ชอบ หรือไม่ถนัดเมื่อต้องพูดในที่สาธารณะ หรือพูดต่อหน้าคณะกรรมการหลายคน ซึ่งส่วนนี้ครูอาจช่วยได้ โดยชวนนักเรียนมาฝึกตอบคำสัมภาษณ์บ่อย ๆ ให้คุ้นเคย อาจมีการจำลองเหตุการณ์การสอบสัมภาษณ์ (Role play) ให้นักเรียนได้พอเห็นบรรยากาศ และได้ฝึกจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกกดดัน หรือฝึกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า นอกจากนี้นักเรียนยังสามารถกลับไปฝึกฝนเองที่บ้านได้ โดยการฝึกพูดหน้ากระจก ซึ่งอาจจะพูดเล่าเรื่องจิปาถะทั่วไปก็ได้ ไม่จำเป็นต้องพูดเกี่ยวกับคำถามสัมภาษณ์เสมอไป ถือเป็นการฝึกฝนทักษะการพูด การจัดเรียงความคิด และฝึกบุคลิกภาพ ซึ่งจะติดตัวนักเรียนต่อไปอีกด้วย สำหรับเทคนิคนี้ การฝึกฝนและชั่วโมงบินเท่านั้นที่จะทำให้ผลงานออกมาสมบูรณ์แบบ

วันสอบสัมภาษณ์

4. ถึงก่อนเวลา: เผื่อเวลาเดินทาง มีเวลาทำสมาธิก่อนเข้าห้องสัมภาษณ์

เมื่อถึงวันสัมภาษณ์ ควรแนะนำให้นักเรียนตื่นแต่เช้า เผื่อเวลาเตรียมตัว เช็คความเรียบร้อยของเสื้อผ้าหน้าผมให้ดี เผื่อเวลาเช็คของและเอกสารให้ครบก่อนออกจากบ้าน เผื่อเวลาสำหรับการเดินทาง โดยศึกษาเส้นทาง และคำนวณเวลาเดินทางล่วงหน้า รวมถึงศึกษาสถานที่สอบสัมภาษณ์ก่อนว่าอยู่ที่อาคารใด ชั้นไหน เพื่อประหยัดเวลาในการมาเดินหาหน้างาน และเมื่อเดินทางมาถึงห้องสัมภาษณ์แล้ว ก็จะได้มีเวลาตั้งสติ และทำสมาธิก่อนเข้าห้องสัมภาษณ์ เพื่อเตรียมกายและใจให้โปร่งโล่งแจ่มใส พร้อมพูดคุยกับบุคคลตรงหน้าตามที่ได้เตรียมสัมภาษณ์มาได้อย่างเต็มที่

5. จับประเด็น: ตั้งใจฟัง ตอบให้ตรงคำถาม

ในระหว่างการสัมภาษณ์ ควรแนะนำให้นักเรียนตั้งใจฟังคำถามให้ดี จับประเด็นคำถามให้ได้ และตอบให้ตรงคำถาม ด้วยเหตุและผล ซึ่งอาจใช้เวลาคิดสักหน่อยค่อยตอบ ไม่จำเป็นต้องรีบตอบในทันที หรือหากไม่เข้าใจคำถามหรือฟังไม่ชัด ก็สามารถถามซ้ำอีกครั้งได้ ในกรณีนักเรียนพบเจอกับคำถามยาก ๆ ไม่ตรงกับคำตอบที่ได้เตรียมไว้ แนะนำให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นของตนเองออกมาได้ เพื่อสะท้อนถึงแนวคิดและทัศนคติที่มี พร้อมการตอบด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ และทำอย่างเต็มที่ และอย่าลืมที่จะบอกเคล็ดลับที่น่าประทับใจให้พวกเขาลองทำ นั่นก็คือการตอบด้วยน้ำเสียงที่ดังฟังชัด เพราะในรอบสัมภาษณ์นี้ใกล้เข้าถึงเส้นชัยแล้ว

6. สร้างความประทับใจ: จริงจัง จริงใจ ยิ้มแย้มแจ่มใส อ่อนน้อมถ่อมตน

คำว่า “สวัสดี” “ขอบคุณ” “ขอโทษ” เป็นคำมหัศจรรย์ที่ทำให้ผู้ใหญ่เอ็นดูเสมอ รวมถึงรอยยิ้มที่สดใส อ่อนน้อมถ่อมตน รวมถึงบุคลิกภาพที่ดี อาทิเช่น การสบตา การนั่ง การยืน การเดิน ฯลฯ ย่อมสร้างความประทับใจให้กับคณะกรรมการได้ แม้สิ่งเหล่านี้จะดูเป็นรายละเอียดเล็กน้อย แต่มีความสำคัญต่อการสมัครทุนที่มีผู้สมัครเข้ามาเป็นจำนวนมาก และแน่นอนว่าคุณสมบัติด้านพฤติกรรมของนักเรียน ก็เป็นสิ่งที่หลายแหล่งทุนการศึกษานั้นใช้พิจารณาอีกด้วย


การที่นักเรียนของครูได้รับเลือกให้ผ่านเข้ามาสู่รอบสอบสัมภาษณ์นั้น ถือว่าเดินมาเกินครึ่งทาง และเข้าใกล้ทุนที่หวังไว้มากขึ้นทุกทีแล้ว ดังนั้นคุณครูอย่าลืมเป็นกำลังใจให้นักเรียนในช่วงสุดท้ายนี้อย่างเต็มที่ เพื่อให้ฮึดสู้กันอีกนิดจนผ่านรอบสัมภาษณ์ และคว้าทุนมาให้ได้สมใจนะคะ


คุณครูของ กสศ. ติดตามข้อมูลทุนการศึกษาอื่น ๆ นอกเหนือทุนของเราได้ที่

เฟซบุ๊กกรุ๊ป “ส่องทางทุน by กสศ.”